เริ่มจากคำถามที่ให้เราลองคิดดูว่า "บ่อยแค่ไหน ที่คุณรู้สึกว่าเหนื่อยล้าและหมดแรงในการทำงาน แต่สิ่งที่แย่ไปกว่านั้นคือ เหมือนไม่มีงานใดที่คุณรู้สึกว่าทำสำเร็จในวันนั้น ?"
การที่คุณถูกทำให้ไขว้เขวเบี่ยงเบนความสนใจจากการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ มันทำให้เรามักรู้สึกมีอะไรต่อมิอะไรมากมายที่ต้องทำซึ่งเรื่องดังกล่าวทำให้เราเหนื่อยล้า และมันจะยิ่งแย่มากขึ้นถ้าในวันนั้นเป็นวันที่ดูยุ่งเหยิงแต่คุณไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรสำเร็จเลยในวันนั้น สิ่งนี้ทำให้คุณรู้สึกไม่พอใจและมักจะลดแรงจูงใจในการทำงานของคุณ
การไขว้เขวเบี่ยงเบนความสนใจ (Distraction) ถือ นิสัยด้านลบที่เป็นเหมือนแรงต้านที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราไม่สามารถทำงานที่สร้างความพอใจและมีความหมายให้กับตัวเรา
การทำงานอย่างแน่วแน่ (Deep Work) นิยามถึง ความสามารถในการสนใจในงานที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจ โดยปราศจากการไขว้เขวเบี่ยงเบนในเรื่องอื่น ซี่งผู้ที่สามารถทำงานได้อย่างแน่วแน่จะสามารถประมวลข้อมูลที่ซับซ้อนและสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้โดยใช้เวลาที่น้อยกว่า
การทำงานในลักษณะดังกล่าวเปรียบเสมือนการที่คุณขี่จักรยาน ซึ่งเมื่อเริ่มขี่ คุณต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานต่างๆ เพื่อให้จักรยานพุ่งไปข้างหน้าได้ แต่เมื่อจักรยานได้ออกตัวแล้ว แรงที่คุณใช้ในการขี่ให้ไปข้างหน้าจะเริ่มน้อยลง อย่างไรก็ดีหากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้คุณต้องเหยียบเบรกและต้องเริ่มขี่ใหม่ ความพยายามที่ใช้ในการเริ่มต้นใหม่ก็จะกลับมาเยอะเหมือนเดิม และนั่นทำให้คุณเหนื่อยล้ามากขึ้น
การทำงานของสมองเราก็เช่นกัน การที่เราถูกทำให้เบี่ยงเบนอยู่บ่อยครั้ง จะทำให้พลังสมองของเราต้องใช้ไปกับการเปลี่ยนเรื่องราวไปมา ซึ่งทำให้สมองอ่อนล้า
นอกจากนี้ การที่เรามีนิสัยเบี่ยงเบนเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น มันจะยิ่งทำให้เรามีความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งสั้นลงไปเรื่อยๆ รวมถึงความอดทนของเราก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน
ดังนั้น หนทางของการเพิ่มประสิทธิภาพอาจไม่ใช่ "การบริหารจัดการเวลา" ซะทีเดียว แต่เป็น "การบริหารจัดการความสนใจ" และป้องกันการเกิดนิสัยไขว้เขวเบี่ยงเบน
วิธีการจัดการดังกล่าวเริ่มจากการตระหนักว่าเรามีปัญหา เพราะคงเป็นเรื่องที่ยากในการปรับเปลี่ยนนิสัยหากเราไม่คิดว่าเรามีปัญหา โดยนิสัยมักจะถูกกระตุ้นโดยสิ่งชี้นำ ดังนั้นให้พยายามหมั่นสังเกตเพื่อดูความถี่และสิ่งชี้นำที่ชักนำความสนใจของเราไป ซึ่งเมื่อคุณทราบถึงสิ่งชี้นำแล้ว นั่นจะช่วยให้คุณหาวิธีเอาชนะได้ง่ายขึ้น
วิธีต่อมาคือการให้สิ่งต่างๆ ที่เราทำเป็นเรื่องที่ง่ายและทำได้เร็ว ซึ่งส่วนที่ยากที่สุดคือการเริ่มต้น เช่น หากคุณต้องการเขียนบทความที่มีความยาว 10 หน้ากระดาษ การเขียนบทความดังกล่าวจะมีความลำบากและอ่อนล้าเมื่อต้องคิดว่าต้องเริ่มเขียน และโอกาสที่คุณจะถูกทำให้เบี่ยงเบนความสนใจจะมีมากขึ้นเช่นกัน แต่หากคุณแบ่งงานดังกล่าวให้เล็กลงเพื่อให้ง่ายและทำได้เร็วขึ้น เช่น แบ่งเป็นบทหรือหัวข้อย่อยลงมา สิ่งนี้จะทำให้เราเริ่มต้นได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้น "การสร้างแรงเสียทาน" ก็เป็นอีกวิธีที่ป้องกันการไขว้เขวได้ โดยทำให้สิ่งชี้นำที่ทำให้เราเกิดการไขว้เขวมีแรงเสียดทานขึ้น ยกตัวอย่างวิธีนี้ เช่น หากคุณรู้ว่า email ในโทรศัพท์มือถือ คือสิ่งชี้นำที่ทำให้ไขว้เขว คุณอาจเปลี่ยนตำแหน่งโปรแกรม email ที่เคยอยู่หน้าแรก โดยนำไปใส่ไว้ใน folder และอยู่หน้าหลังๆ ซึ่งทำให้การเช็ค email เกิดความยุ่งยากในการที่จะเปิด การจัดการดังกล่าวจะช่วยลดการไขว้เขวของคุณเพราะคุณรู้สึกว่ามันมีแรงเสียดทาน หรือ มันไม่ง่ายนั่นเอง
ความไขว้เขวเบี่ยงเบนความสนใจทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า ดูเหมือนทำอะไรไม่สำเร็จทั้งๆ ที่ความเป็นจริงเราจะมีความรู้สึกว่ายุ่งวุ่นวายตลอดทั้งวัน และเมื่อสิ่งนี้กลายเป็นนิสัย พวกเราไม่ได้ถูกทำให้เบี่ยงเบนโดยสิ่งภายนอกหรือคนอื่น แต่เราทำให้ถูกเบี่ยงเบนโดยตัวของเราเอง เพื่อหลีกเลี่ยงความเหนื่อยล้า เราควรตระหนักถึงปัญหาและหาทางเอาชนะนิสัยดังกล่าว เพื่อให้การทำงานมีความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิผล
(อ้างอิงจาก HBR : How to Overcome Your (Checks Email) Distraction Habit)
#HBR
#business #bus.guy
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น