#busguy #จดมาสรุปให้ฟัง #ธุรกิจแบ่งปัน
.
ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2564 หนี้ครัวเรือนไทยได้เพิ่มขึ้นไปถึง 14.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ตามการเติบโตแบบเร่งตัวของการให้กู้ยืมจาก 2 ผู้กู้หลัก ได้แก่ (1) ธนาคารพาณิชย์ และ (2) สถาบันการเงินเฉพาะกิจการที่รับฝากเงิน. ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนจากสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือบริษัทบัตรเครดิต-ลิสซิ่ง-และสินเชื่อส่วนบุคคล มีการเติบโตแบบชะลอตัว ส่วนเงินกู้จากโรงรับจำนำก็ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน. โดยการขยายตัวนี้เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่.
.
1) เมื่อเกิดโควิด ธปท.และสถาบันการเงินต่างๆ ได้มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ทั้งในรูปแบบการพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ดี การชำระหนี้ที่ถูกพักหรือเลื่อนออกไปมีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมปรับลดลงช้ากว่าปกติ
.
2) วิกฤตโควิดทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนขาดรายได้ นำไปสู่การลดลงของสภาพคล่องของคนจำนวนมาก จึงเกิดการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไป. ซึ่งแนวโน้มความต้องการสินเชื่อเร่งตัวมากขึ้นเทียบกับการเติบโตของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ สะท้อนว่าครัวเรือนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ ทำให้มีแนวโน้มต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบซึ่งต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ามาก.
.
3) ครัวเรือนบางส่วนที่มีกำลังซื้อยังมีการใช้จ่ายซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผู้ประกอบการมีการลดราคา ออกโปรโมชั่นจูงใจเป็นจำนวนมาก เพื่อลดอุปทานคงค้าง ยังส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในส่วนนี้เติบโตได้ดีในช่วงวิกฤต
.
จากที่กล่าวมาส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของไทยได้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90.5% ต่อ GDP และยังสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน นอกจากนี้ ยังสูงเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีรายได้และความมั่งคั่งมากกว่า. ทั้งนี้ การมีสัดส่วนหนี้ที่สูงสะท้อนถึงความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียที่จะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวน่าจะยังมีต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากผลกระทบต่อภาคครัวเรือนที่รุนแรงสะท้อนจากการตกงานและสูญเสียรายได้ของคนทำงานเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์.
.
อ้างอิง: 'หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาสแรกของปีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มประสบภาวะ Debt Overhang ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนฟื้นตัวช้า' SCB EIC
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น