บทความจาก ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ "TDRI" เป็นบทความที่น่าสนใจและให้ประโยชน์ในการตีโจทย์ประเด็นความคิดของเราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ New Normal หลังการคลาย Lockdown หรือหลังจากโควิค ซึ่งมักมีหลุมพรางในความคิดความเชื่ออย่างน้อย 5 ข้อ ดังนี้
1. การไม่แยกแยะ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม กับ “ความปกติใหม่” (new normal) ใน “โลกหลังโควิด-19” เช่นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต - ซึ่งคนทั่วไปอาจมีความเข้าใจผิดว่าพฤติกรรมที่ผิดปกติในช่วงปัจจุบันจะดำรงต่อเนื่องไปในอนาคต แต่มีหลักฐานในอดีตหลายเรื่องที่พบว่าหลายกรณีพฤติกรรมส่วนใหญ่ในช่วงผิดปกติจะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติ เช่น การพูดว่าเมืองหลังโควิค ผู้คนจะนิยมในบ้านเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นความผิดปกติในปัจจุบันมากกว่าการที่จะเป็นความผิดปกติใหม่. โดยหากเปรียบเทียบกับกรณีน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งมีการพูดถึงในสังคมกันอย่างมากว่าบ้านแถวปทุมธานีจะขายไม่ได้เพราะคนกลัวน้ำท่วม แต่หลังจากระยะเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ประชาชนก็กลับมาซื้อบ้านในแถบปทุมธานีเช่นเดิม เป็นต้น.
2. ตั้งเป้าหมาย “ความปกติใหม่” ในลักษณะที่อุดมคติมาก โดยไม่ได้คิดถึงต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในการปรับตัวไปสู่ “ความปกติใหม่” นั้น - เช่น ข้อเสนอให้ประเทศไทยพึ่งตนเองมากขึ้นในด้านต่างๆ ทั้งด้านยา เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น หรือ การให้รัฐจัดสรรรายได้พื้นฐานอย่างทั่วถึงให้แก่ประชาชน ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีต้นทุนที่สูงมากและไม่สามารถทำได้ง่ายด้วยข้อจำกัดฐานะการคลังของประเทศไทย.
3. การไม่คำนึงถึงเส้นทางการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา - เช่น การที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ลงทุนไปอย่างมากกับโครงสร้างต่างๆ เช่น การสร้างโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนหลายสิบล้านคนในแต่ละปี ซึ่งการจะเปลี่ยนไปเน้น "การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ" โดยมีนักท่องเที่ยวจำนวนน้อยแต่มีคุณภาพมากขึ้น จะทำให้เกิดประเด็นของสินทรัพย์ที่ลงทุนไปมหาศาลเหล่านั้นจะเปลี่ยนไปทำอะไรเพื่อให้เกิดประโยชน์หรือเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเปล่า.
4. การไม่คำนึงถึงบริบทใหม่ (new context) ในเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างเพียงพอ - ทั้งนี้ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิด ซึ่งมีการพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในระดับที่สูง การกำหนดยุทธศาสตร์ในการัพฒนาจึงต้องเข้าใจบริบทของโลกดังกล่าวเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในการวางแผนพัฒนาโดยไม่พิจารณาสภาพที่เป็นอยู่อย่างถ่องแท้
5. การไม่ระบุข้อสมมติที่สำคัญต่างๆ อย่างชัดเจน - ทำให้เรื่องต่างๆ ที่คุยหรืออภิปรายกันไม่ทราบว่ามีการใช้ข้อเท็จจริงใดหรือสมมุติฐานใดเป็นพื้นฐาน หรือไม่ทราบว่าจะใช้ข้อสรุปและข้อเสนอเหล่านั้นได้มากเพียงใดหรือมีข้อจำกัดอย่างไร.
ทั้งนี้ การถกเถียงเพื่อหาทางออกและร่วมกันในการออกแบบการพัฒนาของประเทศเป็นสิ่งที่ดี. ซึ่งสิ่งที่ได้รับจากบทความนี้จะช่วยให้เราได้กลับมาฉุกคิดและไม่ถลำเข้าไปในความคิดที่มีอคติอันจะทำให้เกิดการวางแผนตัดสินใจที่ผิดพลาดได้.
#busguy
#ธุรกิจแบ่งปัน #business
สรุปจาก "5 คำถามและ 4 โจทย์ว่าด้วยการสนทนาเรื่อง “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด”" โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (https://tdri.or.th/2020/04/new-normal-in-post-covid-world/)
s.30 3-May-20
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น