จากสถิติของสถาบัน National Institute of Mental Health ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นการวิจัยเกี่ยวกับความผิดปกติของจิตใจ ได้เปิดเผยว่ามีประชากรในวัยทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 19% ที่ประสบปัญหากับความผิดปกติในเรื่องการวิตกกังวลมากเกินไป และถึง 31% ของประชากรเคยประสบกับปัญหากับเรื่องดังกล่าวอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต.
เมื่อเราเกิดความวิตกกังวลที่มากเกินไป เรามักติดอยู่ในกับดักของความคิดที่ไม่ปกติหรือในหลายครั้งความคิดของเราจะถูกจำกัด ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก ซึ่งผู้ที่อยู่ในภาวะที่วิตกกังวลมากเกินไปนั้น มักจะมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น
- คิดแต่เฉพาะเหตุการณ์ที่ร้ายแรง : คิดซ้ำไปซ้ำมาแต่กับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่แย่ที่สุด (worst possible outcome) โดยแทบไม่คิดถึงผลลัพธ์ของสถานการณ์อื่นๆ
- เป็นห่วงในความคิดของคนอื่นที่มีกับตนเอง : พยายามคิดหรือเดาว่าคนอื่นคิดกับเราอย่างไร ซึ่งมักจะคิดว่าคนอื่นมองตนในทางลบเป็นส่วนใหญ่
- มุ่งหวังในโชคลาภ : จินตนาการถึงอนาคตที่สดใส โดยที่ไม่ได้มีข้อมูลหรือเหตุผลมารองรับ
- คิดแบบไม่ขาวก็ดำ : คิดถึงความเป็นไปได้มีเพียงแค่ 2 ทาง คือ ถูกหรือผิด โดยไม่มีการวิเคราะห์ถึงทางเลือกอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น
- คิดแบบทั่วๆ ไปในทุกสถานการณ์ : คิดว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะให้ผลลัพธ์ออกมาแบบทั่วไปที่มักพบเห็นเป็นปกติ ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงจากปกติไปได้
ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คุณรู้สึกว่าตัวคุณมีความวิตกกังวลมากจนเกินไป คำแนะนำที่ดีคือการไปปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญเพื่อการบำบัดที่ตรงจุด เพราะสิ่งเหล่านี้บั่นทอนทั้งสุขภาพกายและใจของคุณ อีกทั้งยังเป็นบ่อเกิดของการบั่นบอนความสัมพันธ์กับคนรอบตัวคุณอีกด้วย. อย่างไรก็ดี เรามีคำแนะนำง่ายๆ ที่อาจช่วยลดอาการหรือผลกระทบของการวิตกกังวลที่มากเกินไป ดังนี้
หยุดพฤติกรรมเมื่อเกิด
- โดยทั่วไป ความวิตกกังวลจะเกิดมาพร้อมกับเหตุการณ์ความรู้สึกทางกายภาพ ดังนั้นเราควรหมั่นสังเกตถึงความผิดปกติทางร่างกายของเรา ซึ่งจะเป็นการบ่งชี้ถึงความวิตกกังวลที่เริ่มมีการก่อตัว เช่น การที่ฝ่ามือเปียกชื้น หรือรู้สึกว่าท้องปั่นป่วน เป็นต้น. เมื่อเราสังเกตถึงความผิดปกติดังกล่าว ให้เราตระหนักและพยายามเบี่ยงเบนความนึกคิดของเราไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ แทนหรือหากิจกรรมอื่นทำเพื่อไม่ให้ความวิตกกังวลเกิดการก่อตัวใหญ่ขึ้นไป.
กำหนดชื่อให้กับกับดักที่พบเจอ
- อาการของความความวิตกกังวลอยู่ในลักษณะที่เป็นนามธรรม เช่น ความกังวลจากการที่เราคิดซ้ำไปซ้ำมาถึงเหตุการณ์ที่เลวร้าย หรือ ความกังวลที่คนอื่นจะมองเราไม่ดี เป็นต้น. ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นเหมือนนามธรรมและยากต่ออธิบาย. เทคนิคหนึ่งในการทำให้ความรู้สึกเป็นรูปธรรมมากขึ้น และสามารถเข้าใจได้ คือ การกำหนดชื่อให้กับกับดักของแต่ละอาการเหมือนเป็นการตั้งชื่อให้สัตว์เลี้ยงของเรา เช่น ตั้งชื่อลักษณะของอาการที่คิดซ้ำไปซ้ำมาว่า "นายคิดลบ" หรือ ตั้งชื่ออาการของความคิดที่หวังในโชคลาภว่า "นางสมบัติ" เป็นต้น. โดยเมื่ออาการต่างๆ มีชื่อเรียกเป็นรูปธรรม มันจะทำให้เราทำความเข้าใจและรับรู้ในกับดักที่เกิดขึ้นได้ง่าย และทำให้เราสามารถจัดการแก้ไขกับดับอาการที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นเช่นกัน.
แยกระหว่างอารมณ์ความคิดกับข้อเท็จจริง
- เทคนิคนี้ทำโดยให้เราสร้างตารางออกมามี 2 คอลัมม์ ซึ่งด้านหนึ่งให้เราทำการแจกแจงถึงความกลัว ความไม่แน่นอน และความสงสัยที่เกิดขึ้นในตัวเรา ในขณะที่อีกด้านให้เราทำการเขียนข้อเท็จจริงของสิ่งที่แจกแจงออกในก่อนหน้านี้. ซึ่งการที่คุณแจกแจงสิ่งที่ทำให้เกิดการกังวลและทำการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จถึงความกังวลนั้น สิ่งนี้จะช่วยให้คุณทำความเข้าว่าสิ่งที่คุณกังวลอาจเป็นความกังวลมากเกินไปเมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยควบคุมอารมณ์และลดความกังวลของคุณได้.
สร้างเรื่องราวที่แตกต่างหลากหลาย
- เมื่อเกิดความกังวล เรามักมีแนวโน้มที่จะสร้างเรื่องราวเพื่อตอกย้ำความเชื่อที่เรามีให้กับตัวเรา โดยเฉพาะเรื่องราวที่เป็นเชิงลบหรือเหตุการณ์ที่ร้ายแรง. เทคนิคหนึ่ง คือ การสร้างเรื่องราวใหม่ออกมา โดยเป็นเรื่องราวที่แตกต่างจากเรื่องราวทางลบที่เรามีก่อนหน้า โดยให้คิดถึงผลลัพธ์ของเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกรณีที่แตกต่างจากเรื่องราวความเชื่อเดิมของเรา เช่น คิดว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรหากเหตุการณ์ดีมากหรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหากเหตุการณ์เป็นเหมือนเดิม. ซึ่งการที่คุณมีเรื่องราวให้กับตัวเองในหลากหลายรูปแบบ จะช่วยให้เกิดความสมดุลในความคิดและลดความกังวลจากการคิดถึงแต่เหคุการณ์ที่เลวร้ายลงได้.
คิดถึงวิธีการให้แนะนำคนอื่น
- ลองคิดถึงเหตุการณ์ในกรณีมีคนมาขอคำแนะนำจากคุณเมื่อเขาคนนั้นประสบปัญหาของการกังวลมากเกินไปเช่นเดียวกับที่คุณเป็นอยู่. การที่คุณได้ลองคิดถึงเหตุการณ์ในล้กษณะนี้ จะช่วยให้คุณได้เริ่มพยายามที่จะทำความเข้าใจถึงปัญหาในระดับที่ลึกซึ้งมากขึ้นและเริ่มหลุดพ้นจากดักความคิดที่คุณอาจติดยึดอยู่ ทั้งนี้คำตอบของคุณที่ให้กับคนที่มาขอคำแนะนำก็มักจะเป็นคำตอบแนวทางที่คุณสามารถใช้ในการแก้ปัญหาของตัวคุณเช่นเดียวกัน.
ความวิตกกังวลเป็นสิ่งที่ไปกัดกินพลังสมองของเราและลดประสิทธิภาพในความคิดและการทำงาน ดังนั้นเราควรต้องตระหนักและหากลยุทธ์ในการรับมืออาการดังกล่าว เพื่อป้องกันหรือทำให้สิ่งดัวกล่าวเกิดผลกระทบกับตัวของเราให้น้อยที่สุด.
#busguy
#ธุรกิจแบ่งปัน #business
สรุปจาก "How Anxiety Traps Us, and How We Can Break Free" by Sabina Nawaz
s.29 1-May-20
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น