#busguy #จดมาสรุปให้ฟัง #ธุรกิจแบ่งปัน
.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในประเด็นของอุปสรรคสำหรับบุตรหลานเมื่อต้องเรียนออนไลน์ และมุมมองต่อการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ในระยข้างหน้า ซึ่งการเรียนแบบออนไลน์นั้นยังได้ถูกพัฒนามาเป็นแอพพลิเคชั่นด้านการศึกษาต่อยอดขึ้นมาเป็นช่องทางทางเลือกให้แก่เด็กและผู้ปกครอง โดยมีประเด็นสำคัญได้แก่
.
ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย ประสบปัญหากับความไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์ ทั้งอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ต - การผลสำรวจพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่กว่า 79.1% ยังพบอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ คือ ความไม่พร้อมของอุปกรณ์ในการเรียน โดยนักเรียนส่วนใหญ่เรียนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึงสัดส่วน 50.9% ขณะที่การเรียนผ่านแท็บเล็ตเป็นเพียง 34.2% และผ่านคอมพิวเตอร์ 32.6% ของกลุ่มตัวอย่าง. นอกจากนี้สำหรับกลุ่มที่มีบุตรหลานมากกว่า 1 คน จะเจอปัญหาข้อจำกัดในการซื้ออุปกรณ์เพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์ และบางส่วนเห็นว่ามีค่าอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น อีกทั้งเจอปัญหาจากข้อจำกัดเรื่องความรู้ทางเทคโนโลยีด้วย.
.
ในระยะยาวการเรียนออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น แต่คุณภาพการศึกษายังเป็นประเด็นที่กังวล - ทั้งนี้ผู้ปกครองยังมีความกังวลในคุณภาพการศึกษาถึง 56.4% โดยเด็กนักเรียนไม่มีสมาธิในการเรียน ซึ่งรูปแบบของการเรียนออนไลน์มีข้อจำกัดในสื่อ และน่าจะเหมาะเฉพาะกับบางวิชาที่สอนทฤษฎี. ในขณะที่ผู้ปกครองถึง 48.2% มองว่าการเรียนออนไลน์ในระยะยาวจะส่งผลในเรื่องของสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุตรหลานได้.
.
ทั้งนี้ การให้การเรียนออนไลน์มีประสิทธิผล ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจต้องมีการพัฒนาหรือปรับเนื้อหาให้เกิดความน่าสนใจ อย่างการใช้คลิปวีดีโอประกอบ การเปิดช่องทางสื่อสารระหว่างครูและนักเรียนแบบเรียลไทม์ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน รวมไปถึงการจัดเก็บคลิปการสอนให้นักเรียนสามารถเข้าไปทบทวนได้ตลอดเวลา เป็นต้น. กรณีที่นักเรียนที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ ผู้สอนอาจต้องแจกบทเรียนพร้อมสรุปและแบบฝึกหัด เพื่อให้นักเรียนสามารถทำความเข้าใจก่อนเปิดภาคเรียน และเพื่อเป็นการบรรเทาภาระของผู้ปกครองในด้านการเงิน ภาครัฐอาจร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมในการจัดแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตพิเศษสำหรับบริการนักเรียน
.
🙏🙏
อ้างอิง: 'การเรียนออนไลน์ อุปสรรคค่าใช้จ่าย' ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กรุงเทพธุรกิจ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น