#busguy #จดมาสรุปให้ฟัง #ธุรกิจแบ่งปัน
.
ภาษีบุหรี่ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ภาครัฐใช้ชักนำพฤติกรรมของประชาชนในประเทศ โดยเป็นการเพิ่มราคาของสินค้ายาสูบ ซึ่งมีโทษต่อสุขภาพของประชาชนและเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ภาษีเข้ารัฐด้วย. โดยในประเทศไทยนั้น การกำหนดนโยบายภาษียาสูบจะมีปัจจัยทั้งทางด้านสังคม การเมือง รวมถึงปัจจัยด้านการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศเข้ามามีบทบาทค่อนข้างสูง. ทั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องของนโยบายที่น่ารู้ ได้แก่
.
1. ภาษียาเส้นยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก - เพราะภาครัฐมองว่ายาเส้นเป็นสินค้าสำหรับผู้มีรายได้น้อยและถูกผลิตโดยผู้ประกอบการท้องถิ่น ทำให้ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีการขึ้นภาษียาเส้นเพียงแค่ 2 ครั้ง ในขณะที่มีการขึ้นภาษีบุหรี่ถึง 17 ครั้ง แม้ว่ายาเส้นจะมีอันตรายไม่น้อยไปกว่าบุหรี่
.
2. การกำหนดภาษีมูลค่าบุหรี่แบบ 2 อัตรา - โดยมีอัตราร้อยละ 20 สำหรับบุหรี่ไม่เกิน 60 บาท และร้อยละ 40 สำหรับบุหรี่ที่เกิน 60 บาท เพราะรัฐต้องการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศที่ส่วนใหญ่ขายบุหรี่ในราคาที่ต่ำกว่า 60 บาท แต่โครงสร้างดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติหันมากำหนดราคาบุหรี่ไม่ให้เกิน 60 บาทต่อซอง ส่งผลให้การแข่งขันราคาระหว่างบุหรี่ไทยและนอกรุนแรงมากขึ้น
.
3. ภาระภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการขยายตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภคหลายเท่าตัว - ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของราคาบุหรี่ในอัตราที่สูงกว่ากำลังซื้อมาก ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการเปลี่ยนไปสูบสินค้าทดแทนที่ยังคงมีราคาถูก และเกิดแรงต่อต้านภาคอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะชาวไร่ยาสูบได้รับผลกระทบจากการถูกลดการรับซื้อใบยาสูบจากผู้ประกอบการในประเทศ
.
ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษียาสูบ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายภาษียาสูบว่าควรเก็บภาษีในสินค้าทดแทนที่มีอันตรายเหมือนกันในอัตราที่เท่าเทียมกัน ควรใช้อัตราภาษีอัตราเดียวสำหรับผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทเดียวกัน และมีการปรับขึ้นอัตราภาษีสม่ำเสมอตามการเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อของผู้บริโภค.
.
อ้างอิง: 'ความจริงเรื่องภาษียาสูบ' อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ กรุงเทพธุรกิจ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น