#busguy #จดมาสรุปให้ฟัง #ธุรกิจแบ่งปัน
.
สถานการณ์โควิดที่เริ่มดีขึ้นในหลายๆ ประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมาดีขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวรวมถึงประเทศไทย. อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศไทยของเราจะพบว่ายังมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่อาจกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการเร่งตัวขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลกท่ามกลางเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งปัจจัยทั้งสอง ไม่เพียงจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เปราะบางอยู่แล้ว ขณะเดียวกันความเสียหายต่อพืชผลเกษตรกรก็ยังเป็นแรงกดดันด้านต้นทุนและราคาสินค้าอีกทางหนึ่ง
.
โดยเทศกาลกินเจระหว่างวันที่ 6-14 ต.ค. นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามีเม็ดเงินใช้จ่ายคิดเป็นมูลค่า 3,600 ลบ. หดตัว 8.2% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อน. อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯ 55% ยังคงสนใจเข้าร่วมเทศกาลกินเจ แต่มีการปรับลดจำนวนวันในการกินเจ โดยมีสาเหตุจากความไม่สะดวกในการบริโภค เนื่องจากเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็น WFH และลดการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น. ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกกลุ่มร้านสะดวกซื้อ รวมถึงร้านอาหารที่จำหน่ายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นจากการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งกลุ่มร้านอาหาร Food Chain ได้หันมาเพิ่มเมนูอาหารเจ/วีแกนมากขึ้นเพื่อรุกตลาดผู้บริโภคที่รักสุขภาพ รวมถึงร้านค้าปลีกสะดวกซื้อที่มีการวางจำหน่ายอาหารเจ/วีแกนที่หลากหลายมากขึ้นเช่นกัน
.
ทั้งนี้ คนกรุงเทพฯ กว่า 81% ที่คาดว่าจะกินเจในปีนี้ สนใจจะเลือกรับประทานอาหารที่เป็นกลุ่มโปรตีนทางเลือก เพราะอยากลองกิน อีกทั้งมีเมนูที่หลากหลายและหาซื้อได้ง่ายขึ้น แม้จะกังวลในเรื่องของปัจจัยทางด้านราคาที่ค่อนข้างสูง รสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการ. ดังนั้น หากผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และทำกลยุทธ์การตลาดให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ก็น่าจะช่วยหนุนให้ตลาดกลุ่มโปรตีนทางเลือกมีแนวโน้มเติบโตขึ้นได้.
.
อ้างอิง: 'เทศกาลกินเจปี 64 คนกรุงฯ ลดวัน-ค่าใช้จ่าย' ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, กรุงเทพธุรกิจ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น