#busguy #จดมาสรุปให้ฟัง #ธุรกิจแบ่งปัน
.
การก้าวสู่สังคมสูงวันไม่เพียงทำให้ผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมถดถอย แต่ยังบั่นทอนคนทำงานที่ต้องแบกรับภาระหนักหน่วงเพิ่มขึ้น โดยในประเทศไทยในปี 2543 ตัวเลขสัดส่วนของการค้ำจุน หรือสัดส่วนที่คนทำงานที่ต้องช่วยกันแบกรับคนสูงวัยอยู่ที่ 7 คนต่อผู้สูงวัย 1 คน แต่ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 2.5 คนต่อผู้สูงวัย 1 คนในอีกเพียง 10 ปีข้างหน้า เพราะคนสูงวัยเพิ่มขึ้นในขณะที่คนทำงานลดลง. และเมื่อพิจารณาถึงภาคเกษตรที่มีประชากรประมาณ 24 ล้านคน และเป็นภาคที่กำลังเผชิญการสูงวัยอย่างรวดเร็ว คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้สูงวัยที่ลำบากเนื่องจากไม่อยู่ในระบบการประกันสังคม.
.
สิ่งที่รัฐบาลควรทำอย่างเร่งด่วนควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ผู้สูงวัยและกำลังเริ่มสูงวัยต้องรักษาสุขภาพ คือ การยืดระยะเวลาการทำงานของผู้สูงวัยออกไป ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน รัฐควรสร้างแรงจูงใจทั้งทางด้านภาษีและอื่นๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงานผู้สูงวัยอย่างกว้างขวางทั่วถึง ทั้งนี้การจ้างงานควรมีความยืดหยุ่น ทั้งประเภทงาน รูปแบบการจ้าง ให้สามารถจ้างงานรายชั่วโมง หรือรายภารกิจ ตามข้อจำกัดของผู้สูงวัย
.
สำหรับผู้สูงอายุในชนบทโดยเฉพาะภาคเกษตร รัฐควรสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกลงไปในพื้นที่ต่างๆ และให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งการดูแลสุขภาพ การสร้างงาน และการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ทั้งนี้แนวทางเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถนำมาใช้ได้ เพื่อให้คนที่มีเวลา หรือมีทรัพยากรพอเข้ามาร่วมมือ ไม่ว่าจะในรูปของจิตอาสาหรือได้รับค่าตอบแทน ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาได้ต่อไป. ทั้งนี้การสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ถือเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของประเทศ โดยรัฐบาลและภาคเอกชนควรจับมือร่วมกันสนับสนุนการสร้างสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาผู้สูงวัย.
.
อ้างอิง: 'ถอดชนวนระเบิดเวลา ผู้สูงอายุ ไทย' วิทยา ด่านธำรงกูล, กรุงเทพธุรกิจ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น