#busguy #จดมาสรุปให้ฟัง #ธุรกิจแบ่งปัน
.
จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบ โดยจากการที่หลายธุรกิจต้องหยุดหรือปิดกิจการ นำไปสู่การลดชั่วโมงทำงาน การหยุดจ้างชั่วคราว หรือแม้กระทั่งการเลิกจ้างแรงงานของธุรกิจ โดยอัตราการว่างงานในครึ่งแรกของปี 2564 ยังอยู่ในระดับที่สูง คือ 1.9% ของกำลังแรงงานทั้งหมด เทียบกับระดับ 0.9% ในช่วงก่อนโควิด (ครึ่งแรกของปี 2562). สัดส่วนของคนว่างงานที่มีสาเหตุจากการหยุด-เลิกกิจการหรือถูกให้ออกในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เพิ่มเป็นที่ 31.9% ของคนว่างงานทั้งหมด เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 8.5% ในช่วงก่อนโควิด.
.
นอกจากการว่างงานจะเพิ่มจำนวนแล้ว การว่างงานยังกินเวลานานขึ้นอีกด้วย โดยครึ่งปีแรกจำนวนคนว่างงานมาแล้ว 6-12 เดือน อยู่ที่ 9.4 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 438.3% เทียบกับช่วงก่อนโควิด และจำนวนคนที่ว่างงานมามากกว่า 12 เดือน ก็เพิ่มเป็น 8.6 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 332.6%. นอกจากนี้ กลุ่มแรงงานหน้าใหม่ก็ยังใช้เวลาหางานยาวนานกว่าที่ผ่านมา โดยจากผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนและกำลังว่างงานมีอยู่กว่า 2.7 แสนคน มีจำนวนถึง 9.5 หมื่นคนที่ใช้เวลาหางานมานานกว่า 6 เดือนแล้วแต่ก็ยังไม่มีงานทำ.
.
นอกจากการขาดรายได้ของแรงงานที่ว่างงานแล้ว ทั้งการว่างงานที่ยาวนานและการขาดช่วงในการเข้าสู่การทำงานจริงของกลุ่มแรงงานหน้าใหม่ทำให้การพัฒนาทักษะของแรงงานกลุ่มนี้หยุดชะงักเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล ซึ่งแรงงานที่ไม่ได้มีความพร้อมในทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการ อีกทั้งยังขาดโอกาสในการฝึกทักษะจากการทำงานต้องพบเจอกับความยากลำบากในการหางานมากยิ่งขึ้น. โดยการปรับ-เพิ่มทักษะเพื่อให้แรงงานมีทักษะที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดในอนาคตได้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยประคับประคองตลาดแรงงานไทยให้พัฒนาต่อไป.
.
นโยบายภาครัฐจึงควรต้องให้ความสำคัญการสนับสนุนให้เกิดการปรับ-เพิ่มทักษะของแรงงานในทุกกลุ่มให้พร้อมสำหรับประเภทงานที่ตลาดมีความต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มที่มีทักษะน้อย หรือมีทักษะไม่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ ซึ่งหากแรงงานไม่สามารถปรับทักษะได้ ก็จะนำไปสู่การลดลงหรือขาดรายได้ของคนกลุ่มนี้ ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำปัญหาสำคัญอื่นๆ ของภาคครัวเรือนไทย
.
อ้างอิง: 'ภาวะการไม่มีงานทำของประชากรไทย' SCB EIC
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น