โดยรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในไตรมาส 3 ปี 2563 ได้กล่าวถึงผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อประชาชนไทย โดยเฉพาะผู้ที่รายได้ต่ำยากจน โดยจากการสำรวจของสำนักงานสติถิแห่งชาติร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ (UNICEF) ได้พบว่าจากกลุ่มตัวอย่างมีคนจำนวนถึง 54% ที่มีรายได้ลดลง และ 33% มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และนอกจากนี้ยังพบว่าจากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 14% มีการก่อหนี้ในระบบเพิ่มขึ้น และ 9% ก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น
.
และหากพิจารณาผลกระทบต่อความยากจนจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น พบว่าทุกครั้งที่มีวิกฤตจะทำให้มีจำนวนคนจนเพิ่มขึ้น. โดยวิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความยากจน ดังนี้
1. กลุ่มครัวเรือนที่ยากจนจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น - โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานประจำ ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตทำให้กิจการหยุดดำเนินธุรกิจ พนักงานจำนวนมากมีชั่วโมงการทำงานที่น้อยลงและบางส่วนถูกเลิกจ้าง นอกจากนี้คนจนเมืองจำนวนมากจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินหรือนำของใช้ในบ้านไปจำนำเพื่อประทังหาเลี้ยงชีวิต
2. กลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่เสี่ยงต่อการเป็นครัวเรือนยากจน มีจำนวนครัวเรือนถึง 1.14 ล้านครัวเรือน - โดยครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง จะเป็นครัวเรือนที่มีสถานะความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับสถานะยากจนมาก แต่ยังไม่เข้าเกณฑ์ยากจน ซึ่งจากวิกฤตโควิด-19 นี้ทำให้ครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มที่ปรับตัวลงมาเป็นครัวเรือนยากจนมากขึ้น โดยครัวเรือนกลุ่มดังกล่าว ได้แก่
- กลุ่มครัวเรือนที่พึ่งพิงรายได้จากเงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นภายนอกครัวเรือน - โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน
- กลุ่มเครือเรือนที่มีรายได้จากการทำงานลดลงมาก - เป็นกลุ่มที่ทำงานในสาขาอาชีพที่เสี่ยงต่อการตกงานและครัวเรือนที่ประกอบอาชีพอิสระ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยงต่างชาติเข้ามาไม่ได้ ทำให้รายได้ครัวเรือนกลุ่มนี้ลดลงมาก
- กลุ่มครัวเรือนเกษตรที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินทำกินน้อย - โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง แต่ก็มีความไม่แน่นอนของรายได้เดิมอยู่แล้ว ซึ่งปัจจัยกระทบกับกลุ่มนี้ เช่น จากภัยแล้ง หรืออุทกภัย เป็นต้น
.
ทั้งนี้หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2563 มูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% หรือคิดเป็น 83.8% ของ GDP ขณะที่ไตรมาส 3 คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะมีการปรับตัวสูงเพิ่มขึ้น โดยมีความต้องการสินเชื่อและเอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน. ซึ่งความเสี่ยงในช่วงนี้คือการที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากนัก ซึ่งสำหรับสังคมไทยเราคงต้องช่วยกันประคับประคองเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน.
#ธุรกิจแบ่งปัน #business
อ้างอิง: หนังสือพิพม์กรุงเทพธุรกิจ 17 พ.ย.63
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น