ในช่วงนี้เราจะได้ยินข่าวเรื่องการประมูลรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ อย่างบ่อยครั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วงนี้ไม่ว่าจะเดินทางไปทางไหนในเขตกรุงเทพมหานคร ก็มีโอกาสสูงที่คุณจะต้องผ่านหรือเห็นการก่อสร้างรถไฟฟ้า เรียกได้ว่าก่อสร้างกันอย่างขนาดใหญ่ทั่วกรุง. โดยผลของการก่อสร้างรถไฟฟ้าดังกล่าว ย่อมไม่พ้นการปรับตัวของราคาที่ดินบริเวณรอบๆ แนวรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนั้น ซึ่งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้รายงานดัชนีที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในเขตกรุงเทพฯ ช่วงไตรมาส 3 พบว่ามีการปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เป็นดัชนีที่ 310.07
ทั้งนี้ที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในไตรมาสนี้ ทำเลที่เพิ่มมากส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ปลายสายรถไฟฟ้าที่เป็นส่วนต่อขยายและมีแผนก่อสร้างในอนาคต โดยหากเป็นทำเลที่มีรถไฟฟ้าผ่านและมีการขยายตัวเพิ่มสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) เราสามารถสรุปได้ดังนี้ คือ
1. สายสีชมพู (แคราย - มีนบุรี) มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.7
2. สายสีเขียวเหนือ (คูคต - ลำลูกกา) เป็นเส้นทางที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง โดยปัจจุบันราคาที่ดินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.2
3. สายสีน้ำเงิน (บางแค - พุทธมณฑลสาย 4) เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 28.5
4. สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน - ศาลายา) เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคตเช่นกัน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 21.5
5. สายสีเทา (วัชรพล - พระราม 9 - ท่าพระ) เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8
เราจะเห็นได้ว่าโครงการพัฒนาโดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น มีส่วนช่วยให้เกิดการขยายตัวของความเจริญ โดยพิจารณาจากราคาที่ดินที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และถือเป็นการกระจายความเจริญออกไปสู่ชานเมืองมากขึ้น และหากรถไฟฟ้าทุกสายที่กล่าวมาสร้างเสร็จครบถ้วน การเดินทางของผู้คนในกรุงเทพฯ ก็น่าจะสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น พร้อมไปกับราคาที่ดินที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามการเดินทางของผู้คน.
#ธุรกิจแบ่งปัน #business
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น